‘สุชัชวีร์’ เล่าประสบการณ์ น้ำท่วมกรุงเทพ พร้อมเสนอวิธีแก้ปัญหา

‘สุชัชวีร์’ เล่าประสบการณ์ น้ำท่วมกรุงเทพ พร้อมเสนอวิธีแก้ปัญหา

ดร.เอ้ เล่าประสบการณ์ น้ำท่วมกรุงเทพ หลังเจอน้ำท่วมหนัก หน้าสถานีโทรทัศน์ พร้อมเสนอวิธีแก้น้ำท่วมด้วยวิธีแก้มลิงใต้ดิน นาย สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเฟซบุ๊กถึงกรณี กรุงเทพน้ำท่วม โดยเล่าประสบการณ์หลังจากที่ตนเดินทางมาร่วมดีเบตที่ช่อง 7 บริเวณ ถนนวิภาวดี ซึ่ง ดร.เอ้ ต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนัก แม้ฝนจะตกเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “มาร่วมดีเบตที่ช่อง 7 สี ฝนตกไม่ถึงครึ่งชั่วโมง 

ถนนวิภาวดี ถึงพหลโยธิน หน้าสถานีช่อง 7 เปลี่ยนสภาพเป็นคลองสมบูรณ์แบบ ซ้ำซาก ชาวบ้านทุกข์ทรมาน ผมเคยอยู่ตรงนี้ รู้ดีว่า สภาพเขตจตุจักร ว่าเป็นพื้นที่ต่ำมากๆ ฝนตกหนักยังไงไม่รอด เพราะมันเป็นแอ่งกระทะคอนกรีต น้ำไม่มีที่ไปแล้ว มันก็เหลือรอระบายเต็มซอย เต็มถนน

ลอกคลอง? ลอกท่อ? ใช่ครับมีส่วนช่วย แต่ก็ไม่รอด เพราะพื้นที่มันต่ำ ฝนตกหนัก ยังไงก็ระบายไม่มีทางทัน! ยิ่งฝนยุคนี้ ตกหนักมากๆ ช่วงสั้นแต่รุนแรง และจะหนักมากขึ้นทุกปีๆ โลกร้อนมันของจริงครับ เราทำแบบเดิม มันก็ได้ผลแบบเก่า คือ จมน้ำ ซ้ำซาก!

โดย ดร.เอ้ ยังได้เสนอวิธีแก้ปัญหา น้ำท่วมกรุงเทพ แบบใหม่ด้วย โดยระบุว่า “ผมจึงอยากกราบขอให้คนกรุงเทพ “เปิดหัวใจ รับสิ่งใหม่” เพื่อแก้น้ำท่วมซ้ำซากสักครั้ง #เราทำได้ครับ เมืองอื่น เช่น สิงค์โปร์ กัวลาลัมเปอร์ โตเกียว ฮ่องกง เขาก็เคยเจอแบบกรุงเทพ ฝนตกน้ำไม่มีที่ไป สูบก็ไม่ทัน เขาจึงแก้ปัญหาได้ด้วย “แก้มลิงใต้ดิน” เอาน้ำเหลือรอระบายไม่ทัน ลงมาเก็บไว้ใต้ดินก่อน แล้วจึงค่อยๆ ทยอยสูบขึ้นมาระบายภายหลัง น้ำก็ไม่ท่วม

กรุงเทพ เราทำแก้มลิงใต้ดินได้ 2 ประเภท คือ

1. แก้มลิงใต้ดินขนาดใหญ่ ใช้สำหรับพื้นที่น้ำท่วมเป็นวงกว้าง เช่น จตุจักร-หมอชิต-วิภาวดี จะเก็บรับน้ำเหลือรอระบายไว้ได้ถึง หนึ่งแสน ถึง สองแสน ลูกบาศก์เมตร เราสร้างใต้สวนจตุจักร ไม่ต้องเวนคืน ทำได้เร็ว ได้ผลคุ้มค่า ตลอดอายุการใช้งานเป็นร้อยปี

2. แก้มลิงใต้ดินขนาดเล็ก สร้างในซอยที่พื้นที่ต่ำ สูบยังไงก็ไม่ทัน เก็บน้ำรอระบายได้หนึ่งพัน ถึงหลายพัน ลูกบาศก์เมตร สร้างได้ง่าย สร้างได้เร็ว ชาวบ้านไม่เดือดร้อน คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

วัดเล่งเน่ยยี่ ก็สร้างแก้มลิงใต้ดินแล้ว โชว์กันให้เห็น ชัดยิ่งกว่าชัดว่า ทำได้ และต้องทำ ผมไม่กล้าหาเสียง เป็นผู้ว่ากทม. แค่จะมาลอกคลอง ลอกท่อ เท่านั้น เพราะมีความรู้ เห็นอยู่ว่า ไม่ใช่ทางดับทุกข์ ที่แท้จริง

กรุงเทพ ต้องการ ความคิดใหม่ (ที่เมืองอื่นเขาทำสำเร็จ) และผู้บริหารเมืองคนใหม่ ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม และพร้อมลงมือทำเป็น และทำจริงๆ เพราะปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ ไม่ใช่ว่าใครพูด แล้วจะทำได้นะครับ ผมมาพร้อมกับความรู้ ความเข้าใจ เรื่องดินน้ำของกรุงเทพ และความมุ่งมั่น ทำได้ ทำจริง ขอให้ผมได้ทำเรื่องที่ผมถนัด รับใช้คนกรุงเทพ ให้พ้นทุกข์เรื่องน้ำท่วมซ้ำซาก นะครับ” หลังจากที่ นาย สุชัชวีร์ ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กเกี่ยวน้ำท่วมกรุงเทพนั้น ก็มีแฟนคลับมาร่วมให้กำลังใจและแสดงเจตจำนงว่าจะเลือกเบอร์ 4 ในวันหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ ในวันที่ 22 พ.ค. นี้

ครม. ไฟเขียว ร่างแผนพัฒนาประชากร ปี 2565-2580

คณะรัฐมนตรี ได้มีการเห็นชอบใน ร่างแผนพัฒนาประชากร เพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580 เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์รองรับอนาคต วันที่ 17 พ.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ร่างแผนพัฒนาประชากร เพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

ระยะเร่งด่วน เน้นการจัดการกับปัญหาที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 มุ่งให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เยียวยาครอบครัวที่เปราะบางและผู้ว่างงาน

ระยะยาว มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวคุณภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาประชากรรุ่นถัดไปให้มีคุณภาพและการเสริมความแข็งแกร่งของระบบการดูแลคนรุ่นพ่อแม่เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง ตามแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่ สุขภาวะดี มีงานทำ”

สำหรับภาพอนาคตประชากรไทยระยะยาวสรุปได้ดังนี้คือ ประชากรรวมจะยังคงเพิ่มขึ้นและจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2571 ที่มีจำนวนสูงสุดที่ 67.19 ล้านคน จากนั้นตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป จำนวนประชากรรวมจะลดลง และในปี 2580 วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 14.3 แต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.85 และในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากโครงสร้างประชากรวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคนในทุก 10 ปี ในขณะที่ความต้องการแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 37.55 ล้านคนในปี 2560 เพิ่มเป็น 44.71 ล้านคนในปี 2580 ทางออกหนึ่งคือ การใช้ระบบอัตโนมัติทดแทนแรงงาน นอกจากนี้สัดส่วนผู้สูงอายุหญิงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเพศหญิงมีอายุยืนกว่าเพศชาย และผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีระดับการศึกษาต่ำ ขณะที่อัตราสูงวัยในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สศช. ยังระบุด้วยว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรเจเนอเรชั่น Alpha ซึ่งเกิดในช่วงปี 2553 เป็นต้นไป ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ใช้ชีวิตตามความต้องการของตัวเอง เนื่องจากมีพลังความรู้ความสามารถที่มาก ขณะเดียวกันก็มีความสนใจที่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์ให้โลกนี้ดีขึ้น แต่การอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้คนกลุ่มนี้ขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อมนุษย์คนอื่นเท่าที่ควร ทำให้มีความเข้าใจระหว่างกันน้อยลง ไม่เคารพซึ่งกันและกัน จึงจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องหาแนวทางตั้งรับอย่างเหมาะสม

Credit : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว | แต่งบ้านและสวน | พระเครื่อง | รีวิวกล้องถ่ายรูป